หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ จับมือ บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด และบริษัท ธนโชคน้ำมันพืช (2012) จำกัด ในการจัดการน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว

321 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ จับมือ บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด และบริษัท ธนโชคน้ำมันพืช (2012) จำกัด ในการจัดการน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว

พิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในกระบวนการจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว นำมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF)

วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ นำโดย คุณจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานกรรมการ ร่วมกับ บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด และบริษัท ธนโชคน้ำมันพืช (2012) จำกัด ร่วมพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในกระบวนการจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว นำมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค ณ สำนักงานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่





ด้านคุณธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด กล่าวว่า บริษัท BSGF เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมสีเขียวเพื่อความยั่งยืนที่กลุ่ม บริษัทบางจากฯ ให้ความสำคัญใน การเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ในฐานะผู้ผลิต น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF-Sustainable Aviation Fuel) จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil-UCO) เป็นรายแรกในประเทศไทย และ SAF ถือเป็นบทใหม่ให้กับวงการพลังงานทดแทนที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยนวัตกรรมพลังงานสีเขียว น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ SAF เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ที่อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกสามารถนำมาใช้ทดแทนได้ทันทีโดยไม่ส่งผลต่อเครื่องยนต์ บริษัท บีเอสจีเอฟฯ และกลุ่มบริษัทธนโชคฯ มีความมุ่งมั่นในการร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมและสร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีให้คนไทยด้วยการรับซื้อน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (UCO) มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF)

น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF-Sustainable Aviation Fuel) “ทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานจากฟอสซิล” ปริมาณ 1 ล้านลิตร/วัน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน ผลิตภัณฑ์ SAF จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วส่งผลดีทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับ BCG Economy Model อย่างครบวงจร ตั้งแต่เศรษฐกิจชีวภาพ ( Bio-economy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ไห้มากที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนา เศรษฐกิจ แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล ให้เกิด ความมั่นคงและยั่งยืน ไปพร้อมกัน





โดยทั้ง 3 ฝ่าย จะร่วมกันสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการส่งเสริมเศรษฐกิจ-ดูแลสิ่งแวดล้อม-สร้างเสริมสุขภาพที่ดีอย่างครบวงจร ผ่านโครงการทอดไม่ทิ้ง และ ไม่ทอดซ้ำ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลแก่ทุกฝ่าย  
 
โครงการ ทอดไม่ทิ้ง มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ปัจจุบันคนไทยบริโภคน้ำมัน 1,000 ล้านลิตรต่อปี มีน้ำมันเหลือจากการทอด 250-300 ล้านลิตรต่อปี และน้ำมันที่เหลือนี้เป็นที่มาของ “น้ำมันทอดซ้ำ” ซึ่งเป็นน้ำมันที่เสื่อมสภาพแล้ว น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (UCO) คือขยะที่แปลงเป็นเงิน ช่วยสร้างรายได้เสริมในครัวเรือนจากการนำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วมาขาย ช่วยให้การจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (UCO) ซึ่งถือเป็นของเสียจากการประกอบอาหาร ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีด้วยการนำ UCO ไป Recycle เป็นน้ำมัน SAF ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า แทนการนำไปทิ้งในพื้นที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นกองขยะ พื้นดิน ท่อน้ำ หรือ แหล่งน้ำ ล้วนก่อให้เกินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการกำจัดที่ผิดวิธี สร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีให้คนไทยด้วยการรับซื้อจากครัวเรือนผ่านสถานีบริการน้ำมันบาง จาก 162 สาขาทั่วประเทศ รับซื้อจากหน่วยงานผ่าน บริษัท บีเอสจีเอฟฯ บริษัท ธนโชคฯ และพันธมิตร เช่น หอการค้าจังหวัด ซึ่งโครงการฯ นี้สามารถลดปริมาณ UCO ที่ถูกทิ้งลงพื้นที่สาธารณะและช่วยดึง UCO ออกจากวงจรการฟอกสีน้ำมันแล้วนำมาขายให้ผู้บริโภคนำไปประกอบอาหารใหม่อีกครั้ง ช่วยลดความเสี่ยงของคนไทยในการบริโภคน้ำมันทอดซ้ำและช่วยให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้นจากกระบวนการจัดการในการกำจัดที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ครัวเรือนได้อีกด้วย

 
และวัตถุประสงค์ของโครงการ ไม่ทอดซ้ำ “น้ำมันทอดซ้ำ” ซึ่งเป็นน้ำมันที่เสื่อมสภาพแล้ว เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและเคมีเปลี่ยนเป็นสารประกอบที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์อันเป็นภัยแอบแฝงที่ผู้บริโภคอาจไม่ทันระวังซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้เพื่อป้องกันไว้ สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการอาหารปลอดภัยและช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจในอาหารที่รับประทานมากขึ้น พร้อมรณรงค์ให้ผู้ประกอบการร้านอาหารไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ สร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้บริโภคด้วยอาหารที่ปรุงจากน้ำมันที่ปลอดภัยจากร้านอาหารที่เชื่อถือได้ด้วยใบประกาศนียบัตรโครงการไม่ทอดซ้ำที่ออกให้ร้านอาหารที่ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำและนำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วมาขายให้บริษัท บีเอสจี เอฟ จำกัด และบริษัทในกลุ่มบริษัทบางจาก เพื่อนำไปผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF)



ผู้แทนกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเป้าหมายของกรมอนามัยต่อโครงการไม่ทอดซ้ำ ไว้ดังนี้

ㆍการออกใบรับรองให้แก่ร้านอาหารที่ไม่ใช้น้ำมันปรงอาหารทอดซ้ำ

หน่วยงานราชการมีความร่วมมือกับภาคเอกชนในการร่วมกันรณรงค์และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความตระหนักในเรื่องการไม่ทอดซ้ำ และได้ร่วมกันดูแลความปลอดภัยในการบริโภคให้กับประชาชนผ่านโครงการฯ ผู้บริโภคมีสุขภาพดีจากการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ได้มาตรฐานผ่านสัญลักษณ์การรับรองจากหน่วยราชการและหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ อีกทั้ง ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคอาหารที่ผ่านการรับรองที่น่าเชื่อถือ

ㆍ สร้างมาตรฐานการใช้น้ำมันปรุงอาหาร

ส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องน้ำมันทอดซ้ำ ให้แก่ประชาชนทั่วไปได้ทราบว่าน้ำมันทอดซ้ำมีสารประกอบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อ (NCDs) การไม่รับประทานอาหารที่ปรุงจากน้ำมันทอดซ้ำจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค และสร้างมาตรฐานการใช้น้ำมันปรุงอาหารให้ผู้ประกอบการปฏิบัติเพื่อประกอบอาหารที่ปลอดภัย รวมถึงสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคด้วยสัญลักษณ์การรับรองในโครงการไม่ทอดซ้ำ อันเป็นการสร้างทางเลือกในการบริโภคอาหารปลอดภัยให้แก่ประชาชน
 
ทั้งนี้ ด้านหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ โดย คุณจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานกรรมการ กล่าวว่า ในด้านการสนับสนุนส่งเสริมให้สมาชิกและผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับร้านอาหาร เบเกอรี่ และโรงแรม ให้มีการจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยาน เพื่อเป็นการส่งเสริมที่จะให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี พ.ศ.2593 และสนับสนุนการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้จำหน่ายและผู้บริโภคถึงอันตรายของการใช้น้ำมันปรุงอาหารทอดซ้ำเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค

ซึ่งตรงตาม พันธกิจของหอการค้าหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็น การสนับสนุนความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรเพื่อประโยชน์แก่สมาชิกและส่วนรวม ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิต รวมถึงสิ่งแวดล้อม อีกด้วย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้